เกี่ยวกับบริการไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)


ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)เป็นบริการลงนามเอกสารด้วยลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ใช้สามารถลงนามในสัญญาร่วมกับคู่สัญญาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการพิมพ์เอกสาร ส่งเอกสารหรือเดินทางมาร่วมลงนาม และจัดเก็บเอกสารสัญญาในรูปแบบกระดาษ เพราะธุรกรรมจะ ถูกดำเนินการผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถเก็บเอกสารและใบรับรองลายเซ็นที่อิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยระบบไว้ใช้ตรวจสอบข้อมูล หรือยื่นฟ้องในกรณี ที่เกิดปัญหากับคู่สัญญาในภายหลัง

ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)เป็นระบบที่ช่วยลงนามเอกสารด้วยลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลการลงนามธุรกรรมดังกล่าวจะถูกเก็บบันทึกไว้ในบล็อกเชน ซึ่งเป็น บัญชีธูรกรรมสาธารณะที่ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ ระบบไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)จะแตกต่างจากลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์แบบดั้งเดิมที่ต้องอาศัยตัวกลางที่น่าเชื่อ (Certificate Authority) เนื่องจาก การลงนามด้วยวิธีการดังเดิม ลายเซ็นของผู้ลงนามจะถูกบันทึกไว้ในตัวเอกสารเลย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดปัญหาสองประการคือ

  1. หลังจากที่คู่สัญญาทุกคู่สัญญาลงนามแล้ว จะต้องส่งตัวไฟล์เอกสารไปให็คู่สัญญาทุกคนเก็บเอกสารไว้ หากแฟ้มเอกสารนี้หายจะไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าบุคคลนั้นได้เคยลงนามไว้แล้ว
  2. เพราะกระบวนการลงนามในวิธีการเดิมสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเอกสารนั้น การส่งแฟ้มข้อมูลนั้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจำเป็นจะต้องใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์โดยให้มีการยืนยันจาก ผู้ที่ให้บริการออกใบรับรองเป็นตัวกลางที่ Adobe ยอมรับเท่านั้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง โดยปัจจุบัน PDF Signing Certificate มีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 13,000 บาทต่อคนต่อปี

ส่วนไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)นั้นใช้วิธีการนำข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ใช้ อันได้แก่ หมายเลขบัญชีผู้ใช้ หมายเลขการลงนามร่วม และค่าเอกลักษณ์ของเอกสาร (Document Signature) พร้อมด้วยรหัสยืนยัน จากไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract) ไปเขียนลงในบล็อกเชน ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ มีข้อดีอยู่ 2 ประการคือ

  1. แฟ้มข้อมูลเอกสารจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังจากที่คู่สัญญาลงนามในบล็อกเชนแล้ว ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)จะนำข้อมูลจากบล็อกเชนมาแสดงในใบรับรองเพื่อใช้ในการตรวจสอบ ผู้ใช้และคู่สัญญาสามารถเก็บเอกสารต้นฉบับที่เป็นฉบับแรกสุดไว้ ไม่จำเป็นต้องทำเอกสารหลายชุด
  2. เพราะเอกสารยังเป็นเอกสารต้นฉบับอยู่ ผู้ใช้เพียงตรวจสอบค่าเอกลักษณ์ของเอกสารดังกล่าว ว่าตรงกับข้อมูลที่อยู่ในบล็อกเชนหรือไม่ ก็เพียงพอที่จะใช้ยืนยันในกระบวนการยุติธรรมได้ แม้ว่าแฟ้มข้อมูลดังกล่าว จะถูกส่งผ่านบุคคลที่สาม หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และไม่มีค่าใช้จ่ายในการถือใบรับรองรายปี

แม้ว่าการบันทึกหน้าจอสนทนาแชทจะสามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลแต่ใช้ได้เพียงพยานวัตถุแวดล้อมเท่านั้น เพราะการจับภาพหน้าจอการสนทนาอาจต้องใช้การพิสูจน์หลายด้าน เช่น ข้อความไม่ได้ยืนยันเจตนาชัดเจน หรือคู่กรณีมิได้ใช้คำมั่นสัญญา หรือเป็นแต่เพียงการเจรจาเท่านั้น และไม่อาจบรรยายถึงเงื่อนไข วิธีการ การตกลงกันระหว่างคู่สัญญา แต่ในกรณีของเอกสารที่เป็นหนังสือสัญญาจะมีเจตนา เงื่อนไข และข้อตกลงกันระหว่าง คู่สัญญาที่ชัดเจนกว่า โดยสามารถใช้เป็นเอกสารหลักในการนำสืบพยานวัตถุได้

เนื่องจากเอกสารที่ใช้ลงนามผ่านไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)จะไม่ถูกดำเนินการการเปลี่ยนแปลง โดยทางเทคนิคแล้ว แฟ้มข้อมูลใดๆ ก็สามารถใช้ลงนามได้ทั้งหมด อันได้แก่ เอกสารของไมโครซอฟท์ออฟฟิศ โอเพ่นออฟฟิศ รูปภาพสแกน หรือเอกสาร PDF ซึ่งแตกต่างจากการลงนามด้วยวิธีการดังเดิมที่สามารถใช้ได้เฉพาะเอกสาร PDF เท่านั้น

ส่วนประเภทของเอกสารนั้น พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดให้สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้กับธุรกรรมทุกประเภท ทั้งที่ใซ้อากรแสตมป์และไม่ใช้อากรแสตมป์ ยกเว้น ธูรกรรมที่เกี่ยวกับมรดก และธุรกรรมที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การแต่งงาน หรือการรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น

ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ถูกพัฒนาขึ้นมาตามมาตรฐาน OWASP Top 10 บนแพลตฟอร์มของ ASP.NET Core อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้ กับระบบไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)จะถูกเข้ารหัสอย่างปลอดภัยด้วย SSL/TLS และค่าเอกลักษณ์ของเอกสารถูกสร้างด้วยอัลกอริธึมชื่อ Keccak-256 ซึงได้รับเลือกให้เป็น SHA-3 และประกาศใช้โดยสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (NIST) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ โดย NIST สนับสนุนและรักษามาตรฐานการวัด รวมถึงโครงการสำหรับการเข้าร่วมและช่วยเหลืออุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาและใช้มาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก นอกจารนี้ Keccak-256 ยังถูกพิสูจน์โดย NIST แล้วว่ามีความปลอดภัยสูงกว่ามาตรฐานเดิมลายเซ็นดิจิทัลเดิมที่ใช้ทั่วไปและในเอกสาร PDF ว่า Keccak-256 มีความปลอดภัย สูงกว่า SHA-256 มาก และในหลายปีต่อจากนี้ จะยังไม่มีซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของรัฐบาลใดที่จะสามารถสร้างเอกสาร 2 ฉบับที่มีค่า Keccak-256 เหมือนกันได้

ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ใดๆบนโลกใบนี้ ที่สามารถสร้างเอกสาร 2 ฉบับที่มีเนื้อหาแตกต่างกัน แต่มีค่าเอกลักษณ์ของเอกสารที่เหมือนกันได้
ท่านสามารถดาวโหลดโปรแกรมตรวจสอบลายเซ็นดิจิทัลของเอกสารได้ที่ Github ทางเราเปิดเผยรหัสต้นฉบับ สำหรับคนที่ต้องการจะคอมไพล์โปรแกรมด้วยตัวเองเพื่อตรวจสอบการทำงานของโปรแกรม

ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ถูกพัฒนาขึ้นตามโครงการของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

ในปัจจุบันไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)มีนโยบายที่จะให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ผู้ใช้ในปัจจุบันสามารถลงนาม ในเอกสารได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)จะเก็บสำเนาเอกสารไว้เพียง 150 เมกกะไบต์เท่านั้น ในอนาคต หากมีการระดมทุนได้มากพอ ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)อาจจะนำเสนอแพ็คเกจที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับเอกสารจำนวนมากของผู้ใช้ภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ที่เคยเปิดบัญชีอยู่แล้วจะมีสิทธิ์ที่จะใช้บริการฟรีตลอดไป

เอกสารที่ถูกอัพโหลดขึ้นมาที่ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)จะถูกเก็บไว้บนคลาวด์เพื่อป้องกันการสูญหาย แต่เนื่องด้วยทรัพยากรที่จำกัดของโครงการ ทางไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)จะเก็บเอกสารไว้ให้คุณ เป็นเวลา 90 วัน แม้ว่าเอกสารดังกล่าวจะไม่ถูกเก็บไว้ที่ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)แล้ว แต่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดใบรับรองการทำธุรกรรมแล้วเสร็จได้ตลอดเวลา ส่วนข้อมูลที่ใช้พิสูจน์การทำธุรกรรม นั้นจะอยู่ในบล็อกเชนตลอดไป ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าไปลบหรือแก้ไขได้

เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล เรื่องการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ ว่าบุคคลใดที่ทำนิติกรรมจะต้องไม่ใช่ผู้เยาว์ บุคคลที่ไร้ความสามารถ พระสงฆ์ และบุคคลต่างด้าวที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย กล่าวคือ บุคคลที่จะสามารถใช้งานไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ได้คือ

  1. มีสัญชาติไทย และมีอายุตั้งแต่ 21 ปีบริบูรณ์
  2. ไม่ใช่บุคคลไร้ความสามารถ หรือล้มละลาย
  3. หากเป็นบุคคลต่างด้าวจะต้องอยู่ภายในราชอาณาจักรไทย และมีอายุตั้งแต่ 21 ปีบริบูรณ์

ระบบไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคู่สัญญา โดยเอกสารสามารถรองรับผู้ลงนามได้ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ในกรณีที่ลงนามเพียง 1 คนหรือเจ้าของเอกสารเป็นผู้ลงนามนั้น การลงนามดังกล่าวจะสามารถใช้พิสูจน์การมีตัวตน (Proof of Existence) ได้ว่าผู้ใช้ได้สร้าง หรือมีเอกสารดังกล่าวไว้ในครอบครองแล้ว ส่วนธุรกรรมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สามารถลงนาม ได้เหมือนการลงนามด้วยลายมือตามเจตนาของเอกสารสัญญาดังกล่าว

การลงนามเอกสารเป็นเรื่องระหว่างบุคคลคู่สัญญา ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)มีหน้าที่ดำเนินการแจ้งให้คู่สัญญาทุกคนทราบถึงการลงนามเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ที่ได้ลงนามแล้วทุกคนจะสามารถดาวน์โหลดใบรับรองการทำธุรกรรมแล้วเสร็จ และเอกสารของคู่สัญญาอื่นที่ลงนามด้วยแล้วเท่านั้น

ในกรณีของรายละเอียดสัญญานั้น ผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่สัญญาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เนื่องจากระบบไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)บันทึกค่าเอกลักษณ์ของเอกสารที่มีขนาดเพียง 32 ตัวอักษร มิใช่ตัวเอกสารคู่สัญญา ที่อาจมีข้อมูลถึงหลายหน้ากระดาษได้

ในกรณีของหมายเลขบัญชีผู้ใช้ และกุญแจสาธารณะ ผู้อื่นจะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวของผู้ใช้ได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าหมายเลขบัญชี หรือกุญแจสาธารณะนั้นเป็นของใคร เว้นแต่ว่าบุคคลนั้นได้เคยทำธูรกรรมกับผู้ใช้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ 1 คนสามารถเปิดบัญชีกับไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ได้หลายบัญชี เช่น บัญชีหนึ่งมีไว้ใช้เพื่อทำธุรกรรมซื้อขายออนไลน์ส่วนตัว และอีกบัญชีหนึ่งในลงนามในเอกสารจ้างทำของให้กับทางบริษัทที่ตนเองได้ทำงานอยู่ ดังนั้น ผู้ใช้อื่นที่เคยทำธุรกรรมซื้อขายส่วนตัวกับคุณจะไม่สามารถล่วงรู้ความเคลื่อนไหวในการทำธูรกรรมของคุณที่ทำให้กับบริษัทได้

ช่องทางที่สะดวกที่สุดมี 2 ช่องทางคือ ผ่านทาง Facebook หรือผ่านทาง Slack ผู้ใช้สามารถหาลิงค์ดังกล่าวได้ที่ด้านล่างของเพจ

บุคคลคนเดียวกันสามารถเปิดบัญชีกับไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ได้กี่บัญชีก็ได้ แต่อีเมลที่ใช้ในการสมัครจะต้องไม่ซ้ำกัน และทุกครั้งที่เปิดบัญชี ผู้ใช้จะต้องผ่านกระบวนการการ พิสูจน์เจตนาการใช้งานระบบและการพิสูจน์ตัวตนใหม่อีกครั้ง

เกี่ยวกับบล็อกเชน


บล็อกเชน เป็นโครงสร้างข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่ปัจจุบันใช้แทนระบบทางการเงิน หรือเก็บมูลค่าแทนระบบที่ต้องการตัวกลางอย่างธนาคาร เพื่อทำให้ข้อมูลที่มีมูลค่าดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ ระบบบล็อกเชนจะเก็บข้อมูลซึ่งก็คือรายการการทำธุรกรรมทางการเงินของทุกคนไว้กับทุกคน ทุกคนจะมีสำเนาที่เหมือนกันทำให้แน่ใจว่าข้อมูลมีความน่าเชื่อถือแม้จะไม่มีคนกลางมารับรอง ข้อมูลที่บรรจุลงไปในแต่ละช่วงเวลาจะถูกเก็บลงไปในกลุ่มของข้อมูลที่เรียกว่าบล็อก แต่ละบล็อกจะมีข้อมูลที่เชื่อมโยงกับข้อมูลในบล็อกก่อนหน้า เสมือนกับว่าหากต้องการดูยอดเงินของบัญชีธนาคาร จะต้องนำรายการฝากทั้งหมดมาลบด้วยรายการถอนทั้งหมดจากแต่ละบล็อกมาคำนวณหายอดเงิน

คุณสามารถศึกษาข้อมูลของบล็อกเชนเพิ่มเติมได้ที่

  1. Nuuneoi.com
  2. Siamblockchain.com
  3. Medium.com

เนื่องจากข้อมูลของบล็อกเชนจะถูกบันทึกตามช่วงเวลาของชนิดของบล็อกเชนนั้นๆ ทำให้ข้อมูลถูกบันทึกและถูกทำสำเนาไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่เชื่อมต่อกับระบบ การแก้ไขหรีอลบข้อมูลในบล็อกเชนที่ได้ถูกบันทึกไปแล้วจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะข้อมูลดังกล่าวถูกทำสำเนาไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว และแม้ว่าเราจะตามไปแก้ไขข้อมูลที่บล็อกก่อนหน้าได้ ข้อมูลในบล็อกต่อๆไปจะมีรหัสที่เชื่อมโยงกันอยู่ ทำให้ทุกๆบล็อกทั้งหมดที่เชื่อมต่อมาจะรหัสที่เปลี่ยนไป ดังนั้น หากใครสักคนจะต้องหาแก้ไขข้อมูลในบล็อกเชนนั้น เขาจะต้องเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบบล็อกเชนและแก้ไขข้อมูลทั้งหมดพร้อมกันก่อนที่ข้อมูลบล็อกใหม่จะเกิดขึ้น

สรุปก็คือ ข้อมูลที่ถูกบันทึกในบล็อกเชนสามารถพิสูจน์ในประเด็นข้อกฎหมายที่ว่า ข้อมูลดังกล่าวจะไม่ถูกดัดแปลง หรือแก้ไขก่อนนำมาแสดงต่อศาล

ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)เลือกใช้บล็อกเชนดิจิไบต์ (Digibyte) เนื่องจากแต่ละบล็อกมีระยะเวลาบันทึกเพียง 15 วินาที หมายความว่า ข้อมูลการลงนามของคุณจะถูกบันทึกภายใน 15 วินาที และเครือข่ายของดิจิไบต์มีเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 100,000 เครื่องทำสำเนาข้อมูลของบล็อกเชนอยู่จึงเป็นบล็อกเชนที่มีประสิทธิภาพเรื่องความเร็วและความปลอดภัยสูง

เนื่องจากบล็อกเชนของบิตคอยน์มีความเร็วของบล็อกช้าในบางกรณีอาจต้องรอเอกสารลงนามถึง 3 วัน และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมสูง ยกตัวอย่างเช่น หาก 1 Bitcoin มีมูลค่าประมาณ 300,000 บาท ค่าธรรมเนียมในการบันทึกการลงนามต่อครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 0.2% ของราคา Bitcoin คือครั้งละ 600 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากและไม่เหมาะกับบริบทของการนำไปใช้งานจริงที่ต้องการให้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้โดยคลิกที่คำว่า JSON หลังรายการรหัสหลักและรายการรหัสยืนยันของคู่สัญญาใดก็ตาม จากนั้นให้ค้นหาคำว่า OP_RETURN จะปรากฎตัวอักษร 154 ตัวอักษร มีความหมายดังต่อไปนี้

ลำดับตัวอักษรที่ ประเภทข้อมูล
1-42 บ่งบอกที่อยู่ Thaismartcontract.com
43-58 หมายเลขของสัญญาในระบบ
59-90 หมายเลขบัญชีผู้ใช้ในระบบ
91-154 ลายเซ็นดิจิทัลของเอกสาร หรือค่าเอกลักษณ์ของเอกสาร

เกี่ยวกับข้อกฎหมาย


เพื่อเป็นการพิสูจน์เจตนาการใช้งานระบบ และตัวตนของผู้สมัคร ทางไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ต้องการเอกสารดังต่อไปนี้ เพื่อรับรองการทำธูรกรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย

หากเป็นบุคคลธรรมดา

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง เขียนว่า "ใช้เพื่อระบุระบบลายเซ็นดิจิทัลผ่านระบบเว็บ ThaiSmartContract.com" ตัวอย่างเอกสาร
  2. รูปถ่ายที่เห็นหน้าเจ้าของบัตรประชาชนชัดเจน หน้าบัตรประชาชนเต็มหน้า และข้อความบนกระดาษเขียนว่า "ThaiSmartContract.com" ตัวอย่างเอกสาร

หากเป็นนิติบุคคล จะเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีอำนาจในนิติบุคคลกระทำในนามบุคคล

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจในนิติบุคคล พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง เขียนว่า "ใช้เพื่อระบุระบบลายเซ็นดิจิทัลผ่านระบบเว็บ ThaiSmartContract.com" ตัวอย่างเอกสาร
  2. รูปถ่ายที่เห็นหน้าเจ้าของบัตรประชาชนชัดเจน หน้าบัตรประชาชนเต็มหน้า และข้อความบนกระดาษเขียนว่า "ThaiSmartContract.com" ตัวอย่างเอกสาร
  3. ภาพสแกนของหนังสือมอบอำนาจและแต่งตั้งผู้ดำเนินกิจการ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง(ดูจากภาพตัวอย่าง) เป็นไฟล์ PDF ตัวอย่างเอกสาร

เมื่อผู้ใช้อัพโหลดเอกสาร ทางเจ้าหน้าที่ของไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร หากเอกสารไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง คุณจะได้รับอีเมลแจ้งผลการตรวจสอบนั้น ในบางกรณี ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)อาจต้องการการยืนยันตัวตนโดยการโทรศัพท์สอบถามผู้ใช้ กับรายละเอียดที่สมัครว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นบุคคลนั้นจริง

ในกรณีที่ผู้ใช้มีการทำธุรกรรมที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ผู้ใช้สามารถร้องขอให้ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ตรวจสอบคู่สัญญาเป็นกรณีพิเศษได้ผ่านช่องทาง Facebook หรือ Slack

ก่อนผู้ใช้ลงนาม ผู้ใช้จะสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารจากระบบ และได้รับข้อมูลของคู่สัญญาเป็นชื่อ นามสกุล และอีเมล์ของคู่สัญญา พร้อมทั้งสถานะว่าคู่สัญญาดังกล่าวได้รับการยืนยันตัวตนแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อื่นในกรณีที่ไม่ได้มีเจตนาจะลงนามสัญญาร่วมด้วย

แต่เมือใดที่ผู้ใช้ลงนามในสัญญาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ผู้ใช้จะสามารถดาวน์โหลดใบรับรองงานแล้วเสร็จ และสามารถเข้าถึงเอกสาร คู่สัญญาทั้งหมดที่ได้ลงนามแล้ว และคู่สัญญาอื่นที่ลงนามแล้วจะสามารถเข้าถึงเอกสารของคุณได้เช่นกัน เสมือนหนึ่งผู้ใช้ได้เดินทางไปทำสัญญาร่วมกันด้วยตัวบุคคล และได้ถ่ายสำเนาเอกสารของคู่สัญญาและคู่ฉบับเก็บไว้ด้วยกันทั้งคู่

ไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถพิสูจน์ ประเด็นต่อไปนี้ ดังนี้

บุคคลดังกล่าวมีเจตนาในการทำธูรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)หรือไม่
  1. สำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับสำเนาถูกต้อง เขียนระบุเจตนาการใช้งานระบบ
  2. เงื่อนไขการใช้งานระบบไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract) (พิมพ์ได้หน้าเมนูสมาชิก)
บุคคลที่ระบุในสัญญาเป็นบุคคลที่ทำธุรกรรมผ่านทางอิเล็กทรอนิสก์จริงหรือไม่
  1. รูปถ่ายที่บุคคลถือบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง พร้อมทั้งระบุถึงการใช้งานในระบบไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)
  2. เงื่อนไขการใช้งานระบบไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract) (พิมพ์ได้หน้าเมนูสมาชิก)
ไฟล์เอกสารที่ใช้เป็นสัญญาเป็นเอกสารที่ตรงกับหนังสือรับรองงานแล้วเสร็จ และตรงกับข้อมูลในบล็อกเชน ผู้ใช้งานสามารถดำเนินการตรวจสอบค่า Keccak-256 ได้ผ่านทางเครื่องมือออนไลน์ทั่วไปเพื่อหาค่าลายเซ็นดิจิทัลของเอกสาร เช่น จากเว็บไซต์ต่อไปนี้
  1. https://emn178.github.io/online-tools/keccak_256_checksum.html
  2. http://www.loveconvert.com/tool/online-tools/keccak_256_checksum.html
สำหรับการตรวจสอบ ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบค่าลายเซ็นดิจิทัลของเอกสาร ได้ดังนี้
  1. กรณีเปรียบเทียบกับใบรับรองงานแล้วเสร็จ โดยเทียบข้อความตรงๆได้ทันทีในช่อง "ลายเซ็นดิจิทัลของเอกสาร (Keccak-256)"
  2. กรณีเปรียบเทียบกับบล็อกเชน ผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูลในบล็อกเชนลำดับที่ 91-154 (ดูคำถามข้อที่ 4 ในหมวดบล็อกเชนเพิ่มเติม) จะพบข้อความที่ตรงกัน
คู่สัญญาได้ร่วมลงนามกับผู้ใช้จริงหรือไม่ ในกรณีนี้ ข้อมูลในบล็อกเชนได้ลงรหัสของหนังสือสัญญาในระบบไว้ด้วย ผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูลในบล็อกเชนลำดับที่ 43 ถึง 58 (ดูคำถามข้อที่ 4 ในหมวดบล็อกเชนเพิ่มเติม) จะพบข้อความที่ตรงกัน และรหัสการทำธุรกรรมจะบอกถึงเวลาที่คู่สัญญาลงนามด้วย
ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกในระบบของไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ได้ถูกแก้ไข หรือดัดแปลง หรือสามารถยืนยันทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเปรียบเทียบกับข้อความบนกระดาษได้หรือไม่ เนื่องจากข้อมูลการทำธุรกรรมถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน ผู้ใช้สามารถนำสืบถึงเทคโนโลยีบล็อกเชนได้ว่า เป็นเทคโนโลยีที่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะถูกสำเนาและเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ทั่วโมง โดยจะมีเวลาบันทึกที่แน่นอน ด้วยคุณลักษณะทางเทคโนโลยีดังกล่าว ผู้ใช้สามารถหาเอกสารอ้างอิงได้จากเว็บไซต์ หนังสือ ตำราทั่วไปเกี่ยวกับบล็อกเชน เนื่องจากเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของโครงสร้างข้อมูลชนิดนี้อยู่แล้ว

ดังนั้น ใบรับรองงานแล้วเสร็จที่ออกโดยระบบไทยสมาร์ทคอนแทรค (Thai smart contract)ก็เป็นเพียงเอกสารที่ใช้บอกหรืออ้างอิงว่าข้อมูลการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงถูกบันทึกไว้ที่ตรงไหน จะมีหมายเลขอ้างอิงอะไรเพื่อเรียกดูข้อมูล แทนการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้จากข้อมูลในบล็อกเชนทั้งหมด

ผู้ใช้สามารถอ่านคำถามในหัวข้อที่เกี่ยวกับกฎหมายเพื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้นได้ ทางไทยสมาร์คคอนแทรคอาจช่วยเหลือโดยการช่วยจัดหาทนายความให้ แต่บริการดังกล่าวอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลอื่นนอกเหนือจากที่ปรากฎอยู่ในหน้าเว็บ กรุณาสอบถามผ่านทาง Facebook หรือ Slack ทางทีมงานตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง

เริ่มใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์วันนี้

เพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เปิดบัญชีกับเราวันนี้ คุณสามารถลงนามในธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือรับการแจ้งเตื่อนเมื่อมีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องลงนามได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย